6 ซอยเสรีไทย 67 แยก 4 แขวงคันนายาว
เขตคันนายาว กรุงเทพมหานคร 10230
โทรศัพท์
093 362 8641
วันเวลาทำการ
จันทร์ - เสาร์ : 09.00 - 18.00 น.

เลือกใช้บรรจุภัณฑ์อย่างไร? ต้นทุนลด-โอกาสธุรกิจเพิ่ม

เดิมทีเราอาจมอง “บรรจุภัณฑ์” หรือ Packaging เป็นเสมือนเสื้อผ้าที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับสินค้า และคอยดึงดูดสายตาจากผู้คน แต่วันนี้เมื่อ COVID-19 ได้เข้ามาเขย่าทุกวงการ เรื่องของการใช้หีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องหันมาคำนึงถึงเรื่องของสุขอนามัย ความปลอดภัย และการปลอดเชื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจและตอบโจทย์ลูกค้าบนโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เรียกได้ว่าเป็นโจทย์และความท้าทายใหม่ที่ผู้ประกอบการจะมองข้ามไปไม่ได้แล้ว

ทำความรู้จักบรรจุภัณฑ์
ถึงตรงนี้ ผู้ประกอบการต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โดยภาพรวมของบรรจุภัณฑ์จะมีอยู่ 3 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่

1. บรรจุภัณฑ์ชั้นใน หรือ บรรจุภัณฑ์ปฐมภูมิ (Primary Packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่อยู่ชั้นในสุดติดกับตัวสินค้า เช่น ขวดหรือกระปุกใส่ครีม ฯลฯ

2. บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สอง หรือ บรรจุภัณฑ์ทุติยภูมิ (Secondary Packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์ชั้นแรกไว้ เช่น กล่องใส่หลอดครีม กล่องใส่ขวดโลชั่น เป็นต้น และ

3. บรรจุภัณฑ์ขั้นสุดท้าย (End-of-line Packaging) ถือเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า

จะเห็นได้ว่า บรรจุภัณฑ์แต่ละประเภทนั้นจะทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง คือ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ตรงกับโจทย์การใช้งาน มีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และภาพลักษณ์ของแบรนด์ รวมไปถึงต้องอยู่ภายใต้ต้นทุนที่เหมาะสมอีกด้วย

เปิดเทคนิคเลือกใช้บรรจุภัณฑ์
รู้จักกลุ่มเป้าหมาย
ก่อนที่จะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการต้องรู้ คือ การรู้จักกลุ่มเป้าหมาย โดยผู้ประกอบการจะต้องรู้จักและศึกษาความต้องการของลูกค้า เช่น เป็นใคร ชอบอะไร มีไลฟ์สไตล์แบบไหน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการออกแบบหรือเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้านั่นเอง

คำนึงถึงคุณภาพที่ดี
แน่นอนว่า เมื่อต้องการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงเรื่องของคุณภาพเป็นสำคัญ เคยมีหลายครั้งที่ผู้ประกอบการอยากลดต้นทุนมากๆ จึงเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพ เพราะราคาถูก แต่กลับส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างมาก เพราะการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพ อาจทำให้สินค้าเกิดความเสียหายได้ และในทางกลับกันบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ จะช่วยรักษาคุณภาพสินค้าไว้ได้ ฉะนั้นในบางครั้งบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณภาพ อาจจะต้องมาพร้อมกับราคาที่สูงขึ้นนั่นเอง

ส่งเสริมภาพลักษณ์แบรนด์
บรรจุภัณฑ์ที่ดีต้องช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ ดังนั้นในการออกแบบหรือเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ต้องให้ตรงจุดประสงค์ของแบรนด์มากที่สุด เช่น แบรนด์ของผู้ประกอบการจับตลาดลูกค้าในกลุ่มพรีเมียม ฉะนั้นบรรจุภัณฑ์ก็ต้องออกแบบให้ดูพรีเมียมสอดคล้องไปกับแบรนด์ อีกทั้ง ยังต้องบอกถึงจุดขายหรือจุดเด่นของสินค้าได้อย่างชัดเจน และสามารถดึงดูดใจลูกค้าได้ตั้งแต่แรกเห็น

ฆ่าเชื้อได้
อย่างที่บอกเรื่องของความมั่นใจในการสัมผัสบรรจุภัณฑ์ที่ต้องปราศจากเชื้อ COVID-19 กำลังมาแรง ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรพิจารณาในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเด็นนี้ได้ ซึ่งนอกเหนือจากการฉีดสเปรย์พ่นเพื่อฆ่าเชื้อบนบรรจุภัณฑ์แล้ว แพ็กเกจจิ้ง เช่น กระป๋องโลหะ บรรจุภัณฑ์แก้ว ถุงพลาสติกต้มได้ กล่องเคลือบหลายชั้นด้วยกระดาษแข็งที่ใช้กับระบบฆ่าเชื้อ UHT หรือถาดพลาสติกที่ปิดผนึกด้วยความร้อนบนแผ่นฟิล์ม ล้วนแล้วแต่สามารถฆ่าเชื้อด้วยความร้อนได้ ซึ่งอาจเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการในการนำไปใช้ให้เข้ากับสินค้าและยุคสมัยนี้ได้

ต้องได้มาตรฐาน
สิ่งที่ควรคำนึงถึงและสำคัญไม่แพ้ข้อไหนคือ การเลือกใช้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ผ่านการรับรอง มีมาตรฐาน และมีความน่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ที่แสดงถึงหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต กระบวนการผลิตที่ดีมีความปลอดภัยและมีคุณภาพได้มาตรฐานทุกขั้นตอน HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point) ที่แสดงให้ถึงความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค เนื่องจากระบบ HACCP เป็นระบบที่ ออกแบบมาเพื่อควบคุมอันตราย ณ จุด หรือขั้นตอนการผลิตที่อันตรายเหล่านั้นมีโอกาสเกิดขึ้น จึงสามารถประกันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ได้ ISO 9001: 2015 หรือมาตรฐานบริหารคุณภาพสากลที่ทั่วโลกยอมรับ และ BRC (British Retail Consortium Standard for Food Packaging) มาตรฐานการรับรองระบบสำหรับกลุ่มบริษัทธุรกิจที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าให้กับบริษัทค้าปลีก เป็นมาตรฐานที่ขอบข่ายมุ่งเน้นในด้านคุณภาพ สุขลักษณะ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ตลอดกระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

ตอบโจทย์การใช้งานและมีความคงทน
ในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ ไม่เพียงแต่จะต้องมีรูปลักษณ์ที่ดี สวยงามน่าใช้แล้ว ควรตอบโจทย์การใช้งานที่เหมาะสมด้วย โดยดูจากลักษณะของตัวสินค้าและการใช้งานเป็นสำคัญ เช่น บรรจุภัณฑ์ต้องสามารถดูแลสินค้าด้านในได้อย่างเหมาะสม หรือออกแบบมาให้สะดวกและง่ายต่อการใช้งาน อีกทั้งยังต้องมีความคงทน มีคุณภาพ มีความแข็งแรง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายระหว่างการขนส่ง ดังนั้น ในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ อาจต้องคำนึงถึงวิธีการขนส่ง หรือระยะทางการขนส่ง รวมเข้าไปด้วย

ราคาของบรรจุภัณฑ์
เรื่องของราคาบรรจุภัณฑ์ เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงอย่างมาก โดยต้องอยู่ในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนของธุรกิจ ราคาต้องไม่แพงจนเกินไป เพราะยิ่งต้นทุนสูง กำไรที่ได้ก็จะน้อยลง แต่ถ้าผู้ประกอบการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ราคาถูกมากๆ จนไม่ได้คุณภาพ ก็อาจจะสร้างความเสียหายให้กับสินค้าและภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้เช่นกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่สามารถกล่าวได้ว่า ราคาบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมควรอยู่ที่เท่าไร เพราะขึ้นอยู่กับตัวสินค้าและธุรกิจของแต่ละคน ที่จะต้องวิเคราะห์หาต้นทุนของบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมของตนเอง

จะเห็นได้ว่า การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมนั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยปกป้องสินค้าได้แล้ว ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการขายสินค้าได้อีกด้วย เพราะยิ่งบรรจุภัณฑ์โดดเด่นสะดุดตามากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นการช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อของผู้บริโภคให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

รู้ทริค! ช่วยลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์
ผู้ประกอบการอาจไม่ทราบว่า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่หลายคนมองข้ามสามารถช่วยลดต้นทุนให้กับธุรกิจได้ เช่นเดียวกับเรื่องของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งก็มีหลากหลายวิธีที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดในกระเป๋าได้ เช่น

เลือกขนาดกล่องให้พอดีกับสินค้า หลายครั้งที่ขนาดกล่องหรือบรรจุภัณฑ์ใหญ่เกินไปกับขนาดของสินค้า ทำให้เวลาจัดส่งต้องใส่ตัวกันกระแทก Bubbles ลงไป เพื่อป้องกันสินค้าเคลื่อนที่ หรือบางคนใช้วิธีใส่กระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษอื่นๆ ซึ่งจะมีผลต่อเรื่องของน้ำหนักสินค้าในการขนส่งที่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ดังนั้นการเลือกขนาดกล่องที่พอเหมาะกับสินค้า ก็จะช่วยลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง

รู้จักขนาดสินค้าของตัวเอง เพื่อให้การเลือกบรรจุภัณฑ์เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้ว่า สินค้าที่มีอยู่ในมือนั้นมีขนาด ความกว้าง ความหนา ความยาว หรือความสูงเท่าไร เพื่อใช้เป็นตัวกำหนดขนาดแพ็กเกจจิ้งที่มีความเหมาะสม พอดี และสามารถทำการสั่งซื้อขนาดที่ “ใช่” เพียงขนาดเดียว โดยไม่ต้องหว่านแหคาดคะเนขนาดอื่นๆ ที่อาจไม่ตรงกับขนาดของสินค้าที่มี ที่สำคัญการซื้อบรรจุภัณฑ์เป็นจำนวนมากต่อครั้ง ยังช่วยให้ได้ราคาที่ถูกลงด้วย

การนำกล่องเก่ากลับมาใช้ซ้ำ วิธีการนี้นอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังสามารถช่วยลดปริมาณขยะลงได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันไปรษณีย์ไทยก็ยินยอมให้สามรถนำกล่องเก่ามาใช้ได้ โดยเฉพาะกล่องสีแดงของไปรษณีย์ สามารถพับกลับด้าน เพื่อใช้งานได้อีกครั้ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องเลือกกล่องที่มีสภาพสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่เปื่อยจนเสียรูปทรง จากนั้นให้ทำการขีดฆ่าจ่าหน้า ลาเบลต่างๆ บนกล่องทั้งหมด แล้วใช้กระดาษสีน้ำตาล สีขาว หรือสีอ่อน หุ้มปิดทั้งกล่อง เพียงเท่านี้ก็สามารถประหยัดเงินไม่ต้องซื้อกล่องใหม่แล้ว

ทางเลือกผู้ให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นแนวทางในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการ ท่านสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจของตัวเองได้ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการรายใด ต้องการรับคำปรึกษาและความรู้ในเรื่องของบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ตลอดจนบริการทดสอบคุณภาพวัสดุและบรรจุภัณฑ์ด้วยเครื่องมือและวิธีการที่ได้มาตรฐานและทันสมัย จากหน่วยงานภาครัฐ สามารถเข้าไปรับบริการได้ที่ ศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย (ศบท.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ สมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย หรือหากต้องการที่จะใช้บรรจุภัณฑ์ บอกได้เลยว่า ปัจจุบันนี้มีตัวเลือกบรรจุภัณฑ์จากผู้ผลิตที่ผ่านการรับรองจำนวนมากให้สามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการและงบประมาณของตนเอง อีกทั้งยังสามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้น แค่คลิกค้นหาบนช่องทางออนไลน์ก็มีตัวเลือกขึ้นมามากมาย เช่น เอสซีจี แพคเกจจิ้ง LocoPack และ NPP Box เป็นต้น

Published on 22 September 2020
SMEONE เพิ่มโอกาสให้ SME ไทย

ที่มา : smeone.info